วันอังคารที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2555

งานฝ้าเพดาน


งานฝ้าเพดาน
        
              ถ้าเราพูดถึงองค์ประกอบในการสร้างบ้านหลังหนึ่งงานฝ้าเพดาน ดูจะเป็นส่วนที่เจ้าของบ้านใส่ ใจน้อยที่สุด บางรายมองว่าฝ้าเพดานมีเพื่อให้ห้องดูเรียบร้อยสวยงามเพียงอย่างเดียว  ทั้งที่จริงแล้ว การติดตั้งฝ้าเพดาน นอกจากจะช่วยปิดความไม่เรียบร้อยของโครงหลังคาและแผ่นกระเบื้องแล้ว ยังมีส่วนช่วยลดความร้อนจากแสงอาทิตย์ที่ทะลุผ่านหลังคาลงมาสู่ห้อง ช่วยปิดซ่อนการเดินท่อน้ำและสายไฟต่างๆ ป้องกันฝุ่นละอองหรือแมลงที่อาจร่วงหล่นมาจากหลังคา รวมทั้งฝ้าเพดานบางประเภทยังใช้ป้องกันเสียงรบกวนและปรับรักษาอุณหภูมิในห้องเพื่อช่วยประหยัดการใช้เครื่องปรับอากาศได้อีกด้วย เมื่อพิจารณาจากประโยชน์ใช้สอยของฝ้าเพดานข้างต้นแล้ว การเลือกใช้ฝ้าเพดานแต่ละชนิด จึงต้องพิจารณาทั้งเรื่องของวัสดุที่ใช้ทำฝ้าเพดาน และบริเวณของการติดตั้งฝ้าเพดานไปพร้อม ๆ กันด้วย
ชนิดของฝ้าเพดานที่ใช้สำหรับบ้านพักอาศัย
1.วัสดุแผ่นเรียบ นิยมใช้กันมากกับส่วนที่เป็นฝ้าเพดานภายนอกบ้าน ฝ้าชายคา รวมไปถึงฝ้าเพดานโรงรถ ลักษณะ เป็นแผ่นแข็ง ขนาดใหญ่ ผิวเรียบ เมื่อก่อนเรารู้จักและใช้ฝ้าเพดานแผ่นเรียบชนิดที่เรียกว่า กระเบื้องซีเมนต์ใยหินแผ่นเรียบ แต่เนื่องจากสารใยหินมีผลกระทบต่อร่างกาย วัสดุแผ่นเรียบในปัจจุบันจึงหันไปใช้วัตถุดิบประเภทเยื่อไม้ หรือเส้นใยเซลลูโลสจากพืชมาใช้ในการผลิตแทน คุณสมบัติ ทนต่อความร้อน ความชื้น ไม่โก่งงอ ไม่ติดไฟ ปลวก มอด ไม่กิน ติดตั้งง่าย มีราคาไม่ถูก เช่น แผ่นไม้อัดอเนกประสงค์ วีว่า บอร์ด, แผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์บอร์ด อีเทอร์แพน,คอนวูดบอร์ด ทีซีเอส รวมไปถึงแผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์ เฌอร่า เป็นต้น
2.แผ่นยิปซัมบอร์ด (Gypsum board) นิยมใช้กันมากเช่นกัน ใช้ได้ทั้งเป็นฝ้าเพดานภายนอกและภายในบ้าน มีส่วนผสมของผงยิปซัมซึ่งเป็นฉนวนกันร้อนที่ดี ทนไฟ และป้องกันเสียงได้ สามารถตกแต่ง และปกปิดรอยต่อได้เรียบเนียน สวยงาม โดยประเภทของยิปซัมบอร์ดแบ่งออกได้เป็น ยิปซัมบอร์ดชนิดธรรมดา ใช้สำหรับติดตั้งฝ้าเพดานภายบ้านในทั่วไป ใช้ชนิดความหนา 9 มิลลิเมตร ยิปซัมบอร์ดชนิดทนความชื้น เพิ่มคุณสมบัติในการทนความชื้น โดยผสมสารป้องกันการดูดความชื้นเข้าไปในเนื้อยิปซัม ใช้สำหรับงานฝ้าเพดานในห้องน้ำ ในครัว รวมไปถึงพื้นที่ภายนอก เช่น ส่วนเฉลียงบ้าน เป็นต้น  ยิปซัมบอร์ดชนิดทนความร้อน เป็นแผ่นยิปซัมที่ติดแผ่นอลูมิเนียมฟอยด์ด้านหลังเพิ่มคุณสมบัติในการป้องกันการส่งผ่านความร้อน ซึ่งสามารถสะท้อนรังสีความร้อนได้ถึง 95% เหมาะสำหรับติดตั้งในห้องที่ติดกับหลังคาหรือห้องใต้ชั้นดาดฟ้า ยิปซัมบอร์ดชนิดทนไฟ มีการเสริมความแข็งแรงโดยการเพิ่มส่วนผสมของเส้นใยชนิดพิเศษ ออกแบบให้ทนไฟได้นาน 1-4 ชั่วโมง มักจะใช้ในส่วนของห้องครัว ทางหนีไฟ หรือใช้กับบ้านโครงสร้างเหล็กแผ่นยิปซัมลดเสียงสะท้อน มีการฉลุลวดลายต่างๆลงที่ตัวแผ่นทั้งรูวงกลม รูสี่เหลี่ยมและลายเส้น บุด้วยแผ่นกลาซ แมท (Glass Matt) ด้านหลัง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดูดซับเสียง ลดเสียงสะท้อนและ เสียงก้องได้เป็นอย่างดี ใช้กับห้องโฮมเธียเตอร์ ห้องประชุม หรือห้องทำงาน เป็นต้น การติดตั้งแผ่นยิปซัมบอร์ดสำหรับใช้เป็นฝ้าเพดาน มีทั้งยึดกับโครงเคร่าโลหะแบบไร้รอยต่อระหว่างแผ่น (ฉาบโป๊วรอยต่อให้เรียบแล้วทาสี)ซึ่งทำให้ฝ้าเพดานดูเรียบสวยเป็นผืนเดียวกัน แล ะแบบชนิดแยกเป็นแผ่นวางบนโครงเคร่าแบบแขวนหรือที่เรียกว่า ฝ้าที-บาร์ ซึ่งสะดวกในการประกอบใส่และถอดออกฝ้าแบบที-บาร์มักไม่นิยมใช้ภายในบ้านพักอาศัย เพราะมีเส้นสายของโครงเคร่าแลดูไม่สวยงาม อาจพบมีการใช้ในส่วนของห้องหรือบริเวณที่ต้องการเปิดขึ้นไปตรวจดูความเรียบร้อยเหนือฝ้าเพดาน เช่น ห้องน้ำ-ห้องส้วม หรือห้องควบคุมไฟฟ้า เป็นต้น
3.ฝ้าระแนงไม้จริง มักใช้กับพื้นที่ภายนอกบ้านที่ต้องการความสวยงามสีสันเป็นธรรมชาติ โดยใช้ระแนงไม้ขนาดหน้ากว้างประมาณ 2-4 นิ้ว นำมาเรียงต่อกัน เว้นช่องห่างประมาณ 5-8 มิลลิเมตรเพื่อใช้ ระบายอากาศ หรืออาจเรียงชิดกันโดยวิธีเข้าลิ้นรางเซาะร่องให้ดูเรียบร้อยสวยงามก็ได้ แต่ควรใช้ระแนงไม้ที่มีความหนาไม่น้อยกว่า 3/4 นิ้ว เพื่อป้องกันการบิดตัวแยกออกจากกัน  อย่างไรก็ตามการนำไม้ระแนงมาใช้เป็นฝ้าเพดานในส่วนของชายคาบ้านซึ่งเป็นบริเวณที่มีการสะสมความร้อนจากหลังคามาก ทำให้ไม้เกิดการโก่งงอหรือบิดได้ จึงควรมีการเว้นร่องระบายอากาศระหว่างแผ่น หรือ หากยึดแบบเข้าลิ้นรางก็ควรเจาะช่องระบายอากาศที่ฝ้าชายคาไม้เป็นระยะๆ ไว้ด้วยเสมอ ทั้งนี้ร่องระบาย อากาศดังกล่าวควรติดมุ้งลวดตาข่ายกันแมลงไว้ด้านในด้วย เพื่อไม่ให้สัตว์และแมลงต่างๆ เข้าไปอยู่อาศัย อันเป็นต้นเหตุของการสะสมสิ่งสกปรกและเชื้อโรคต่างๆ การเลือกชนิดของไม้ระแนงที่ใช้เป็นฝ้าเพดาน หากต้องการความสวยงามเป็นธรรมชาติ ก็ควรเลือกใช้ไม้ที่มีลวดลายและสีสันสวยงาม เช่น ไม้แดง ไม้มะค่า ไม้สัก เป็นต้น โดยทาสีย้อมไม้หรือน้ำยาเคลือบไม้ชนิดใสเพื่อโชว์ลวดลายและสีสันของระแนงไม้ แต่หากใช้การทาสีน้ำมันปิดทับผิวของระแนงไม้ ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ไม้ที่มีลวดลายสวยงามซึ่งมีราคาแพง โดยอาจเลือกใช้ไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้เต็ง หรือไม้ตะเคียนแทนก็ได้
4.ฝ้าเพดานอลูมิเนียม มีลักษณะการยึดติดโดยนำเอาชิ้นส่วนอลูมิเนียมสำ-เร็จรูปมาวางเรียงต่อกันคล้ายกับฝ้าเพดานไม้ หรือแบบแผงเหมือนฝ้าที-บาร์ ยึดโดยเคร่าอลูมิเนียม เนื่องจากชิ้นส่วนแต่ละชิ้นมี ขนาดที่เป็นมาตรฐานทำให้การยึดติดดูเรียบร้อย เลือกสีได้ตามต้องการ อายุการใช้งานยาวนาน ใช้ได้ทั้งภายนอกและภายใน ไม่ติดไฟแต่ไม่ทนความร้อน แม้จะได้งานเรียบร้อยแต่แลดูแข็งกระด้างจึงไม่พบมีการใช้กับบ้านพักอาศัยเท่าใดนัก
5.ฝ้าระแนงไวนิล เกิดจากการพัฒนาวัสดุประเภทพีวีซีคุณภาพสูง (ชนิดเดียวกับที่ใช้ทำประตูหน้าต่างไวนิล) นำมาขึ้นรูปทำเป็นแผ่นคล้ายกับฝ้าชนิดอลูมิเนียม ใช้เป็นฝ้าระแนงในส่วนของชายคา มีความทนทาน สีไม่ซีดจาง ไม่บิดงอ แลดูเรียบร้อย สวยงาม แต่มีราคาสูงกว่าฝ้าชนิดอื่นๆ ยี่ห้อที่พบในท้องตลาด เช่น ฝ้าระแนงไวนิล Amigo เป็นต้น
6.ฝ้าระแนงไม้เทียม เป็นฝ้าเพดานที่มีกระบวนการผลิตเช่นเดียวกับวัสดุแผ่นเรียบ เพียงแต่นำมาประยุกต์รูปแบบทำลวดลายและขนาดให้เหมือนระแนงไม้จริง โดยแก้ปัญหาเรื่องการบิดงอของไม้ ปลวกไม่กิน ไม่ติดไฟ ติดตั้งง่ายและประหยัดค่าใช้จ่ายลงได้มาก ฝ้าระแนงไม้เทียมที่พบมากและนิยมใช้กันในปัจจุบัน เช่นฝ้าระแนงไม้เฌอร่าที่มีทั้งผิวเรียบและแบบลวดลาย,ไม้ระแนงคอนวูด มีทั้งแบบตัดชิ้นหน้ากว้าง 3" และชนิดแผ่นเซาะร่อง ขนาด 4x8 ฟุต,ไม้ ระแนงตราช้าง ขนาดหน้ากว้าง 3" และแผ่นฝ้าตราช้างที่ออกแบบชนิดแผ่นใหญ่ขนาด 60x60,60x120 และ 120x240 เซนติเมตร มีทั้งแบบลายไม้, ลายไม้ระบายอากาศ,และรุ่นแคปซูลระบายอากาศ โดยมีรูปแบบเฉพาะไม่เหมือนใคร เป็นต้น
นอกจากการเลือกใช้ชนิดของฝ้าเพดานที่เหมาะสมในแต่ละส่วนของตัวบ้านแล้ว การติดตั้งอย่างถูกต้อง ก็เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ฝ้าเพดานมีอายุการใช้งานได้นานตามจริง  โดยเลือกใช้โครงเคร่ายึดฝ้าเพดานที่แข็งแรง ระยะยึดของโครงเคร่าได้ตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ รวมทั้งมีการตรวจสอบสิ่งที่อยู่เหนือฝ้าเพดานก่อนทำการติดตั้งฝ้าเพดานก่อนเสมอเช่น ตรวจดูความเรียบร้อยของแผ่นกระเบื้องมุงหลังคา ความเรียบร้อยของการยึดโครงเคร่ากับโครงหลังคาหรือพื้นชั้นบน รวมทั้งตรวจเช็คงานเดินระบบท่อต่างๆ ทั้งท่อน้ำ และสายไฟ เป็นต้น
          แม้งานติดตั้งฝ้าเพดาน จะเป็นขั้นตอนการทำงานที่เกือบท้ายสุดของการสร้างบ้าน แต่เจ้าของบ้านควรใส่ใจเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นส่วนที่มีความเกี่ยวข้องทั้งกับงานโครงสร้าง งานระบบต่างๆทั้งไฟฟ้าและประปา รวมไปถึงงานตกแต่งภายในด้วย

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น